เดินป่าเขาสอยดาวใต้ จันทบุรี



ป่าเขาสอยดาวใต้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ชมความงามของพรรณไม้ ดอกไม้ ในป่าดิบชื้นผืนใหญ่แห่งภาคตะวันออก ชมวิวหุบเขา ทะเลหมอก และพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดของเทือกเขาสอยดาว เหมาะกับผู้ที่รักและหวงแหนความบริสุทธิ์ของป่า นักผจญภัยผู้กล้า ที่จะร่วมฝ่าฟันเข้าสู่ผืนป่าที่เต็มไปด้วยความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง

ป่าเขาสอยดาวใต้ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จุดเริ่มต้นของการเดินขึ้นเขานั้น จะอยู่ในอำเภอโป่งน้ำร้อน (ด้านหลังที่ว่าการอำเภอ)

ทริปเดินป่าเขาสอยดาวใต้ มักจะอยู่ในลิสของนักผจญภัย นักเดินป่า ผู้ที่นิยมศึกษาต้นไม้ พรรณไม้หายาก นักล่าทะเลหมอก เพราะถือเป็นสถานที่ที่ท้าทาย เป็นการพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดของภาคตะวันออก (1,675 เมตร จากระดับน้ำทะเล) การขึ้นสู่ยอดเขาจะต้องเดินผ่านเข้าไปในป่าดิบชื้น เส้นทางค่อนข้างสมบุกสมบัน ไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ หากเดินให้ครบทุกจุด จะต้องพักค้างแรมในป่า 2 คืน ผู้ที่จะเที่ยวชมจึงต้องมีความพร้อมของร่างกาย มีจิตใจเข้มแข็ง อดทน มุ่งมั่น เพื่อเอาชนะอุปสรรค ความยากลำบากนานาชนิด เดินป่าขึ้นเขาไปยังจุดหมายปลายทาง ที่เป็นเหมือนของขวัญอันลำ้ค่า กับการได้สัมผัสธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ดื่มด่ำกับความงามของป่าโบราณ และวิวหมอกยามเช้าจากหน้าผาสูง

การเดินป่าเขาสอยดาว ต้องมีผู้นำทางที่ชำนาญและมีความคุ้นเคยกับป่าแถบนี้เท่านั้น เพราะเส้นทางเดินไม่ชัดเจน ใช้เวลาในการเดินประมาณ 5-6 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งทริปการเดินป่าเขาสอยดาวใต้มี 2 แบบ คือ

ทริป 2 วัน 1 คืน
เป็นการเดินป่าแบบครึ่งทริป (ครึ่งทาง) เดินขึ้นไปชมผา ชมวิวทิวทัศน์ธรรมชาติสวยๆ จากมุมสูงที่ผาต่างๆ โดยการเดินทางแบ่งได้เป็น
- วันที่ 1 เดินจากตีนเขา ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้น (หลังอำเภอโป่งน้ำร้อน) เดินขึ้นเขาไปยัง - ผา 1 - ผา 2 - ผา 3 (จุดพักแรม)
- วันที่ 2 เดินลงเขา
ทริป 3 วัน 2 คืน
เป็นการเดินป่าแบบเต็มทริป เพราะจะได้ผ่านจุดสำคัญแทบทุกจุดบนเขาสอยดาวใต้ นอกจากการได้ชมวิวจากหน้าผาต่างๆ ในวันแรกแล้ว วันที่สองจะได้เดินไปยังจุดสูงสุดของยอดเขาสอยดาวใต้ เต็มไปด้วยพรรณไม้ ดอกไม้ป่า กล้วยไม้ และสัตว์ป่าต่างๆ
การเดินทางเต็มรูปแบบจะแบ่งได้เป็น 2 วันคือ
- วันที่ 1 เดินจากจุดเริ่มเข้าป่า ไปยัง ผา 1 - ผา 2 - ผา 3 (จุดพักแรมคืนแรก) ใช้เวลาในการเดินประมาณ 5-6 ชั่วโมง
- วันที่ 2 จากจุดพักแรม ผา 3 ไปยัง ลานกระทิง - ยอดเขาสอยดาวใต้ - บึงซีโต้ (จุดพักแรมคืนที่ 2 ) ใช้เวลาเดินประมาณ 5-6 ชั่วโมง
- วันที่ 3 เดินลงเขา


สภาพโดยทั่วไปของป่าเขาสอยดาว เป็นป่าดิบชื้น มีต้นไม้ใหญ่ที่มีเรือนยอดสูง ไปจนถึงต้นไม้ขนาดกลาง และต้นไม้ชั้นล่างที่ปกคลุมพื้นผิวดิน ทำให้ป่ามีความชื้นค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน เป็นช่วงที่การเดินป่าอาจลำบากบ้าง แต่เป็นที่นิยมสำหรับคนที่ชอบดูพืชพรรณ ดอกไม้ป่า โดยเฉพาะกล้วยไม้ป่า และพรรณไม้หายาก มีให้เห็นเป็นจำนวนมาก ส่วนเวลาเข้าหน้าหนาว บนเขาจะมีอากาศหนาวเย็นมาก มีหมอกปกคลุมไปทั่ว ได้บรรยากาศที่สวยงามเช่นกัน บางช่วงได้เห็นทะเลหมอก พอถึงช่วงเข้าหน้าแล้ง อากาศในป่าเขาสอยดาวก็ยังไม่ถึงกับร้อนจัด เพราะในป่ายังคงมีความชุ่มชื้น เมื่อขึ้นไปยังผา จุดชมวิว ท้องฟ้าสดใส ถ่ายรูปได้สวย จะเห็นวิวได้ไกล ท่้องฟ้าเปิดจะเห็นไปได้ถึงผืนป่าฝั่งประเทศกัมพูชา

 

การเดินทางขึ้นเขาสอยดาวใต้

 

การเดินทางขึ้นเขาสอยดาวใต้ จะผ่านจุดสำคัญ และสิ่งที่น่าสนใจตามรายทาง คือ

จุดที่ 1 จากจุดเริ่มต้น เป็นเส้นทางราบเชิงเขา ที่ต่อจากสวนผลไม้ของชาวบ้าน ช่วงนี้เป็นการเดินสบายๆ ไม่เหนื่อยมาก ทางเดินกว้างหน่อย เป็นการวอร์มร่างกายกันก่อน สองข้างเส้นทางเป็นต้นไม้ใหญ่น้อย อุปสรรคแรกที่พบเจอจะเป็นพวกตัวทาก ที่ทำให้ต้องคอยระวังกันให้ดี ป่านี้ทากค่อนข้างชุม

จุดที่ 2 น้ำตกคลองทับหมาก หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า น้ำตกหลังอำเภอ เส้นทางเดินป่าจะต้องผ่านมายังน้ำตกคลองทับหมาก เป็นน้ำตกขนาดกลางๆ มีน้ำไหลผ่านผาหินกว้างลาดสโลบลงมายังแอ่งน้ำด้านล่าง จากนั้นก็ไหลเรื่อยเหมือนลำธาร เล่นน้ำได้ ในช่วงหน้าฝนน้ำจะเยอะ จะเห็นดอกกล้วยไม้ป่าบริเวณริมน้ำตก

จุดที่ 3 ฝายน้ำ เมื่อเดินต่อจากน้ำตก จะข้ามฝายน้ำ ที่ก่อด้วยปูน เห็นจุดนี้แล้วเป็นอันรู้กันเลยว่า เส้นทางต่อไปข้างหน้าจะค่อนข้างโหดขึ้น เหมือนเป็นประตูสู่ป่าทึบ เป็นช่วงที่ต้องเดินตัดขึ้นเขาชัน ต้องปีน ไต่ระดับ จับต้นไม้ รากไม้ เหนี่ยวตัวขึ้นไปตลอด เป็นช่วงที่ต้องตัดขึ้นทางจมูกเขา* ขึ้นไปยังแนวสันเขาหลัก

* จมูกเขา คือส่วนที่แยกออกจากแนวสันเขาใหญ่ ลาดลงสู่หุบเขาลูกใหญ่

จุดที่ 4 จุดพักกินข้าวกลางวัน เมื่อพ้นจากช่วงขึ้นเขา จะถึงจุดพักจุดแรก ป่าที่รายล้อมด้วยต้นไม้ที่เรือนยอดสูง

 

จุดที่ 5 ผา 1 เป็นจุดที่ห่างจากช่วงจุดพักกินข้าวกลางวันประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นจุดแรกที่สามารถชมวิวหุบเขาได้จากมุมสูง ผา 1 มีลักษณะเป็นก้อนหินขนาดใหญ่แหลมสูงโดด ผุดโผล่พ้นทะลุผืนป่า ถือเป็นจุดชมวิวจุดแรก ที่ทุกคนจะได้ถ่ายรูป อิ่มเอมกับบรรยากาศ และวิวทิวทัศน์ของยอดเขาสลับซับซ้อน เมื่อมายืนที่ผาหิน จึงได้เห็นวิวโดยรอบ จากจุดนี้สามารถมองเห็นไปถึงผา 2 ได้ด้วย

จุดที่ 6 ผา 2 อยู่ที่ระดับความสูงประมา​ณ 1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเล อยู่ไม่ไกลจากผา 1 เดินผ่านดงป่าไปประมาณ 5-10 นาที ก็ถึง จากผา 2 จะมองเห็นผา 1 ชัดเจน เป็นผาหินที่มีความกว้างมากกว่าผา 1 ตามหินมีมอสเกาะเขียวเหมือนพรมนุ่มๆ พอเข้าหน้าร้อนก็จะกลายเป็นสีทอง

จุดที่ 7 ผากุรำ เป็นผาที่พบเลียงผาบ่อย คำว่า "กุรำ*" เป็นภาษาอิสลาม คือเลียงผา จุดนี้เป็นผาที่อยู่ก่อนถึงผา 3 จะมองเห็นผา 3 ไล่ไปจนถึงยอดเขาสอยดาวใต้

*เลียงผา หรือกุรำ หรือเยือง เป็นสัตว์จำพวกเดียวกับแพะและแกะ มีขายาวและแข็งแรง มีเขาทั้งตัวผู้ตัวเมีย เขาเรียวโค้งไปทางด้นหลัง เป็นสัตว์ที่มีประสาทสัมผัสไวมาก จึงมักพบเจอเพียงร่องรอยที่ทิ้งไว้ ชอบอาศัยอยู่ตามถ้ำ บนภูเขาที่มีหน้าผาสูงชัน มีป่าปกคลุม ในประเทศไทยเลียงผาถือเป็นสัตว์สงวนที่ใกล้สูญพันธุ์

จุดที่ 8 ผา 3 เป็นลานโล่ง กว่าผา 1 และ 2 สามารถมองเห็นได้เกือบ 360 องศา ใช้เวลาเดินจากผา 2 ประมาณ 30 นาที มีลักษณะเป็นลานกว้าง บริเวณหินมีเฟิร์น หญ้า และมอสขึ้นเขียว จากผา 3 มองลงไปยังหุบเขาด้านล่าง จะเห็นเป็นป่าทึบ ที่ผา 3 นี้จะเป็นจุดตั้งแค้มป์ในคืนแรกของการเดินทาง

 

จุดที่ 9 ลานกระทิง ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง จากผา 3 เป็นลานกว้าง ที่ฝูงกระทิงมักจะมาอยู่กันจุดนี้ จนเกิดเป็นลานที่ต้นไม้ไม่ขึ้นมาก ทำให้เห็นเป็นที่โล่งกว้าง

จุดที่ 10 ถ้ำแพะ เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกัน แต่จริงๆ น่าจะหมายถึงเลียงผา เพราะด้วยมีลักษณะเหมือนแพะภูเขา จึงเรียกว่าแพะแทน ถ้ำแพะนี้อยู่ด้านล่างจากลานกระทิงลงไปหน่อย (บางทริปอาจไม่แวะจุดนี้) เคยมีคนเล่าว่าได้เข้าไปในถ้ำ พบว่าข้างในมีขนาดกว้างใหญ่ แบ่งเป็นห้องสลับซับซ้อน แต่ปัจจุบันปากถ้ำถูกหินปิด

จุดที่ 11 ยอดเขาสอยดาวใต้ เป็นจุดสูงสุดของเขาสอยดาวใต้ (ความสูงที่ 1,670 - 1,675 เมตร) บางคนเรียกว่า "ผาเหยียบเมฆ" เพราะเมฆหมอกผ่านเราไปราวกับยืนบนเมฆ บริเวณนี้อากาศเย็นสบาย มีต้นไม้ขึ้นสูง มีลักษณะเป็นป่าโบราณ แบบป่าใส่เสื้อ* เห็นวิวโดยรอบได้ไม่ชัดเจนนัก

* ป่าใส่เสื้อ ป่าห่มเสื้อ ต้นไม้ใส่เสื้อ หรือที่เรียกกันว่าเป็นป่าโบราณ คือป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ที่ตามลำต้น และกิ่งก้านของต้นไม้ถูกปกคลุมด้วยพืชชนิดอื่นๆ พืชที่จับตามลำต้นของต้นไม้ใหญ่ จะเป็นพวก เฟิร์น มอส ซึ่งพบได้ตามป่าดิบชื้น หรือบนยอดเขาสูง เช่นดอยอินทนนท์ นอกจากนี้ยังมีต้นไม้ใส่เสื้ออีกประเภทหนึ่งที่ห่มด้วยพันธุ์ไม้เลื้อย เถาวัลย์ เช่นพวกรางจืด หรือพืชที่ชอบแสงจึงพยายามเกาะตามต้นไม้ใหญ่ เพื่อไต่ขึ้นไปหาแสงอาทิตย์

จุดที่ 12 ผาเต็มใจ เป็นผาที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก เป็นจุดที่มองเห็นวิวได้แบบสุดสายตา พานอรามา มองลงไปด้านล่างจะเห็นผืนป่าซ้อนใบกันแน่นขนัด ด้านหนึ่งเห็นตัวเมืองโป่งน้ำร้อนอยู่ลิบๆ ในวันที่ฟ้าเปิดสามารถมองเห็นได้ไกลไปถึงป่าฝั่งประเทศกัมพูชา

 

จุดที่ 13 บึงซีโต้ หรือหนองซีโต้ ความสูงอยู่ที่ประมาณ 1,400 เมตร จากระดับน้ำทะเล สมัยก่อนเคยเป็นหนองน้ำกลางหุบเขา ลักษณะเหมือนโป่ง ที่สัตว์ป่าจะพากันลงมากินน้ำ ปัจจุบันมีลักษณะตื้นเขินและมีหญ้าปกคลุมเต็มพื้นที่ ช่วงหน้าร้อน โชคดีอาจได้เห็นดอกกระโถนฤาษี* แถบนี้จะมีกล้วยไม้เยอะ และจุดนี้เป็นจุดตั้งแค้มป์ ในคืนที่ 2

* ดอกกระโถนฤาษี เป็นพืชในวงศ์เดียวกับบัวผุด** แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก มีกลีบดอก 10 กลีบ ดอกมีสีแดงสด และมีลายจุดสีเหลืองกระจายอยู่บนกลีบดอก เป็นพืชเบียน(แบบเดียวกับกาฝาก) มักจะอาศัยเกาะตามรากไม้เถาวัลย์ แทงเนื้อเยื่อเข้าไปในรากพืชแล้วอาศัยเพื่อดูดกินอาหาร ดอกกระโถนฤาษีเป็นพืชที่หาดูได้ยาก เป็นพืชที่กำลังจะสูญพันธุ์ พบได้ทางภาคเหนือที่มีอากาศหนาวเย็น หรือในป่าดิบชื้น

 

** ส่วนดอกบัวผุด ไม่ใช่ดอกบัวที่อยู่ในน้ำ แต่เป็นกาฝากเช่นเดียวกัน หน้าตาคล้ายดอกกระโถนฤาษี แต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก บางคนเรียกดอกนี้ว่า "ย่านไก่ต้ม" เพราะจะขึ้นอยู่บนรากของไม้เถาว่านป่าที่ชื่อว่าย่านไก่ต้ม เพียงชนิดเดียว


นอกจากนี้ยังมีบริเวณหนึ่งที่เรียกกันว่า "หินกัมมะเรีย" เป็นหินรูปสามเหลี่ยมเหมือนทรงจั่ว ที่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานเมืองลับแล ที่อยู่บนเขาสอยดาวใต้แถบนี้ กล่าวกันว่า เมื่อก่อนชาวลับแลสมารถติดต่อกับชาวบ้านจากหมู่บ้านด้านล่างได้ ต่อมาคนในหมู่บ้านได้ขึ้นมายืมถ้วยชาม จากชาวลับแลไป เมื่อยืมบ่อยๆ แล้วไม่นำมาคืน ทำให้คนเมืองลับแลไม่พอใจ จึงปิดเมืองด้วยหินไว้ บางครั้งเมื่อผู้คนขึ้นมาบนเขา จะได้ยินเสียงดนตรีไทย ขับกล่อม แต่เมื่อลงไปยังหมู่บ้าน ก็พบว่าไม่มีใครจัดงานใดๆ จึงเชื่อว่าอาจเป็นเสียงงานรื่นเริงที่จัดในเมืองลับแล

 

จุดที่ 14 น้ำตกตาดดาว เมื่อลงจากเขาสอยดาวใต้ จะผ่านน้ำตกตาดดาว ซึ่งมีถึง 15 ชั้น บริเวณนี้เคยเป็นจุดที่พบเจอกล้วยไม้พันธุ์หายาก เช่น รองเท้านารีคางกบ เป็นต้น

จุดที่ 15 ไร่กระวาน ซึ่งเขาสอยดาวถือเป็นแหล่งกระวานที่ใหญ่ที่สุด และดีที่สุดในประเทศไทย การเดินทางจะผ่านขนำสำหรับชาวบ้านที่ขึ้นมาเฝ้าไร่กระวาน ซึ่งได้รับอนุญาติให้ขึ้นมาดูแลไร่ และเป็นการช่วยดูแลผืนป่าด้วย

อย่างไรก็ตาม เส้นทางการเดินป่าเขาสอยดาวใต้แต่ละทริป อาจมีการเปลี่ยนแปลงบางจุด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และความปลอดภัย

ข้อแนะนำต่างๆ

 

ข้อแนะนำในการเดินป่า
- การเดินป่าเขาสอยดาวใต้ จะเดินขึ้นจากเชิงเขาบริเวณอำเภอโป่งน้ำร้อน ไม่ใช่ในอำเภอเขาสอยดาว
- ควรติดต่อผู้นำทาง ในการพาเดินป่า ไม่ควรเดินขึ้นไปกันเอง เพราะอาจเกิดอันตรายจากการหลงป่า หรือสัตว์ป่าได้
- ควรติดต่อจ้างลูกหาบในการขนสัมภาระขึ้นไปบนเขา เช่นเครื่องนอน อุปกรณ์การประกอบอาหารในมื้อต่างๆ
- เส้นทางเริ่มต้นเดินอยู่บริเวณป่าหลังที่ว่าการอำเภอโป่งน้ำร้อน สามารถติดต่อกำนัน เพื่อจัดหาคนนำทางและลูกหาบ
- การเดินป่าจะใช้เวลา 5-6 ชั่วโมงต่อวัน ควรเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม
- จุดประสงค์ของการเดินป่าของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่นการขึ้นไปชมวิว เก็บบรรยากาศ ถ่ายภาพวิว ศึกษาพันธุ์ไม้ป่าหายาก การดูนก ผีเสื้อ แมลง ควรบอกกับผู้นำทางไว้ เพื่อจะได้หยุดรอคณะในการแวะชม ไม่ควรแยกไปโดยลำพัง หรือไม่ได้บอกผู้นำทาง
- ไม่ควรเดินออกนอกเส้นทาง เพราะอาจเป็นการทำลายพืชพรรณ ดอกไม้ หรือต้นไม้ที่หายาก เช่นกล้วยไม้ในป่าบางชนิดจะขึ้นตามพื้นดิน เดินผ่านไปเผินๆ ไม่ทันสังเกต อาจจะไม่เห็น ไม่รู้จัก อาจเหยียบทำลายได้
- การเดินป่าในหน้าฝน หรือหลังฝน จะเห็นป่าสวย ดูชุ่มชื้นสบายตา ต้นไม้เขียวขจี มีไรเคน มอส กล้วยไม้ป่า เห็ดแปลกๆ เห็นทะเลหมอก ไอเย็นของหมอก เดินป่าได้ไม่ร้อน แต่ข้อเสียคือมีทาก หรือบางช่วงฟ้าไม่เปิดอาจเห็นวิวหุบเขา เป็นเพียงไอหมอกขาว
- ช่วงหลังฝน หรือหน้าหนาว จะเห็นพรรณไม้ป่าต่างๆ มากมาย เฟิร์น เช่น เฟิร์นดอกไม้ป่า กล้วยไม้ป่า เช่นโฮย่าสายพันธุ์ต่างๆ ดอกเอื้องพร้าว เอื้องปากส้อม* เอื้องดอกมะเขือม่วง เอื้องขวด กล้วยไม้ดินฝอยม่วง
- เดินป่าหน้าร้อน อาจจะรู้สึกเหนื่อยง่าย ในป่าอาจไม่มีดอกไม้ป่าให้เห็น แต่วิวทิวทัศน์มุมสูงสวย ฟ้าใส มองเห็นวิวได้ไกล ถ่ายรูปสวย

* เอื้องปากส้อม เป็นกล้วยไม้ที่มักจะเจอในป่าดิบ พบเห็นในช่วงฤดูร้อน ลักษณะเด่นๆ คือ ปลายกลีบปากเรียวแยกเป็นสองเส้น คล้ายแฉกของลิ้นงู

- ตามทางเดินอาจได้พบร่องรอยสัตว์ป่าชนิดต่างๆ เช่นหมูป่า เลียงผา กระทิง ช้าง
- การเดินป่าในแต่ละฤดู ให้บรรยากาศไม่เหมือนกัน ฤดูฝนเหมาะสำหรับคนที่ชอบป่าสีเขียว ดูสดชื่น ชมพรรณไม้ดอกไม้ แต่การเดินอาจจะเฉอะแฉะ บนเขาก็อาจมีลมแรง อากาศหนาวเย็น ฟ้าปิด มีหมอกลง มองเห็นวิวได้น้อย การเดินป่าในฤดูแล้ง อาจไม่ค่อยได้เห็นดอกไม้ป่า หรือต้นไม้เขียวๆ แต่ทากไม่เยอะเท่าหน้าฝน วิวทิวทัศน์สวย ท้องฟ้าโปร่ง เห็นวิวได้ไกลสุดลูกหูลูกตา ถ่ายรูปได้สวย
- ป่าเขาสอยดาวเป็นป่าดิบชื้น การเดินป่าควรเตรียมตัวป้องกันเรื่องทาก* เห็บลม** และแมลงต่างๆ ด้วย

 

* ทาก เป็นสัตว์ที่มีลักษณะรูปร่างผอมเรียวยาว พบมากในฤดูฝน ตามป่าดิบชื้น ทากไม่มีพิษภัยจนถึงขั้นบาดเจ็บ เสียชีวิต แต่ก็ดูดเลือดสัตว์เลือดอุ่นเป็นอาหาร ทากเคลื่อนที่โดยใช้ปากที่ปลาย 2 ข้าง เป็นเหมือนตัวดูดคืบคลานไปในที่ต่างๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ตามพื้นดิน ใบไม้ สามารถรับรู้ด้วยการจับคลื่นความร้อนจากสัตว์เลือดอุ่น และแรงสั่นสะเทือน เมื่อโดนทากเกาะที่ผิวหนังจะใช้ปากกัด แผลจะมีลักษณะเป็นสามแฉก เมื่อกินเลือดจนอิ่มแล้ว จะตัวอวบอ้วน แล้วหลุดจากเราไปเอง ตรงบาดแผล ทากจะปล่อยสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้าออกมา อาจต้องใช้ใบสาบเสือ หรือใช้ยาเส้น ยาฉุน ไส้บุหรี่ ชุบน้ำหมาดๆ นำมาปิดที่ปากแผลเพื่อห้ามเลือด

 

* เห็บลม หรือบางที่เรียกว่า แมงแดง เห็บทราย เห็บเสี้ยน เป็นเห็บขนาดเล็กคล้ายเห็บหมา แต่ตัวเล็กกว่า สามารถปลิวตามลมไปเกาะตามที่ต่างๆ ได้ จึงเรียกว่า "เห็บลม" พบได้ในป่าในช่วงลมโยก (ลมต้นหนาว) ช่วงหมดฝนเข้าสู่หน้าแล้ง เห็บลมมักอาศัยอยู่ตามกาบของต้นเฟิร์นแห้งๆ ใบไม้ ขอนไม้ผุ เวลาเดินป่าอาจปลิวมาเกาะเราโดยไม่รู้ตัว เมื่อเกาะที่ผิวหนังแล้วก็จะกัดดูดเลือดไปเรื่อยๆ ลักษณะแผลจะเป็นตุ่มแดงๆ คัน สำหรับคนที่แพ้ ก็ทำให้เป็นไข้ได้ หากโดนเห็บเกาะอยู่ที่ผิว อย่าตกใจ และอย่าเพิ่งดึงตัวเห็บออก เพราะจะทำให้เขี้ยวหักฝังอยู่กับผิวหนังเราได้ วิธีเอาตัวเห็บออกให้ใช้โลชั่น วาสลิน หรือยาหม่องป้ายโปะลงไปที่ตัวเห็บ เห็บจะหายใจไม่ออกคลายเขี้ยวออก แล้วค่อยเขี่ยให้หลุดไปได้โดยเขี้ยวไม่หักฝังอยู่ที่ผิวเรา หรืออาจใช้ยาเส้นชุบน้ำพอเปียกๆ ทาตรงที่โดนเห็บกัด เห็บก็จะทนกลิ่นไม่ไหว ถอนเขี้ยวหลุดไปเอง ถ้าเอาตัวเห็บออกโดยเขี้ยวยังฝังอยู่ในผิว จะคันเรื้อรัง รักษายาก แผลจะไม่ค่อยหาย แผลจากเห็บให้ใช้เบทาดีนทา

 

การแต่งกายสำหรับการเดินป่า
- เสื้อ ควรเป็นเสื้อที่ใส่สบาย มิดชิด ไม่รุ่มร่าม ไม่อึดอัด อาจใส่เสื้อคลุมทับชั้นนอก หรือใส่เสื้อแขนยาว เพื่อป้องกันหนามหรือกิ่งไม้เกี่ยวตามร่างกาย
- กางเกง ควรเป็นกางเกงขายาว เบาสบาย ตัวหลวมนิดหน่อย อย่างเช่นกางเกงวอร์ม กางเกงผ้าฝ้าย ที่คล่องตัวขณะปีนป่าย ไม่ควรใส่กางเกงขาสั้น กางเกงยีนส์ หรือกางเกงรัดรูปจนเกินไป อาจทำให้การปีนป่ายไม่ถนัด
- ถุงเท้า หากมีถุงเท้ายาวประมาณเกือบถึงเข่า หรือเลยหัวเข่า ควรติดตัวไป สำหรับใส่ทับด้านนอกกางเกง เพื่อเป็นการป้องกันทากอีกชั้นหนึ่ง
- รองเท้า ควรเป็นรองเท้าผ้าใบ รองเท้าหุ้มข้อ หุ้มส้น หรือรองเท้าที่ใส่กระชับสบาย พื้นรองเท้าควรมีดอกยางหนา ลึก เพื่อช่วยในการเกาะเกี่ยว ไม่ลื่น ไม่ควรใส่รองเท้าแตะ รองเท้าหนัง หรือรองเท้าที่มีดอกยางเรียบเกินไป เพราะอาจลื่นได้ง่าย
- หมวก เป็นหมวกแก๊ป หรือหมวกผ้าสำหรับกันแดด บางคนอาจใช้ผ้าโพก ที่สามารถใช้เป็นผ้าอเนกประสงค์สำหรับพันคอ โพกหัว เช็ดหน้าเช็ดตาได้ด้วย
- หากเดินป่าช่วงหน้าแล้ง อาจต้องระวังเรื่องเห็บลมด้วย ควรใส่เสื้อผ้าที่รัดกุม ทา กย 15 หรือน้ำมันมวย ตามผิวหนังที่เปิดโล่ง เช่น ใบหู ต้นคอ แขน ข้อเท้า ข้อพับต่างๆ
- หน้าแล้ง ไม่ควรนั่ง หรือนอนตามขอนไม้ผุ เพราะเป็นที่อยู่ของพวกเห็บลม
- หากเดินป่าช่วงหน้าฝน ควรเตรียมเครื่องป้องกันทาก ซึ่งก็มีวิธีป้องกันได้หลายวิธี เช่น การทาผิวด้วยยาที่มีกลิ่นฉุน เช่น น้ำมันมวย น้ำมันตะไคร้ ยาหม่อง เค้าเตอร์เพน กย 15 หรือน้ำยาเส้น* จากนั้นสวมถุงเท้ายาว (เช่นถุงเท้าเตะบอล) โดยสวมถุงเท้าทับขากางเกงไปเลย หากใช้ยาฉีดพ่นกันทาก ควรใส่ถุงเท้าแล้วจึงฉีดพ่นที่ถุงเท้า รองเท้าด้วย ซื่งอาจจะต้องฉีดบ่อยๆ เพราะเวลาเดินไป กลิ่นก็จะหายไป อีกวิธีที่นิยมคือการใส่ถุงกันทาก**

* ยาเส้น หรือยาฉุน มีลักษณะเหมือนไส้ในของบุหรี่ หาซื้อง่ายตามต่างจังหวัด ขายเป็นซองๆ ตามร้านโชว์ห่วย ราคาประมาณ 5-10 บาท เวลาใช้ชุบน้ำพอชุ่มแล้วทาตามขา หรือจะชุบน้ำหมาดๆ แปะไว้ตามขอบถุงเท้าก็ได้ ทากจะไม่ชอบกลิ่นมัน หากใครหาซื้อไม่ได้ จะใช้ไส้บุหรี่มาชุบน้ำทาแทนก็ได้ สรรพคุณอีกอย่างนึงของยาเส้นคือใช้ห้ามเลือดเวลาโดนทากดูดเลือด ให้ใช้ยาเส้นหมาดๆ โปะที่บาดแผล

 

** ถุงกันทาก หรือถุงเท้ากันทาก (Leech Socks) มีลักษณะเหมือนถุงเท้าขนาดใหญ่ยาว มักทำจากผ้าฝ้าย หรือใยสังเคราะห์ทอเนื้อละเอียดแน่น แบบที่ทากไม่สามารถเล็ดลอดเข้าไปได้ (ราคาประมาณ 100 - 200 บาท) ก่อนใส่ถุงกันทาก อาจทาผิวด้วยยาที่มีกลิ่นฉุนก่อนด้วยก็ได้ จากนั้นก็สวมถุงกันทากทับถุงเท้าที่สวมปกติ คลุมชายขากางเกงมาจนสุด แล้วรูดปิดล็อคด้านบน จากนั้นจึงใส่รองเท้า ถุงกันทากมีทั้งขนาดสั้น (ใต้เข่า) และขนาดยาว(เหนือเข่า) เมื่อใส่ถุงเท้ากันทากแล้ว บางคนอาจฉีดสเปรย์กันทากทับถุงด้านนอกอีกครั้งด้วยก็ได้

 

สัมภาระส่วนตัวที่ควรเตรียม
- เป้สำหรับใส่ของเดินป่า ควรมีน้ำหนักเบา เฉพาะใส่ของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น ไม่ควรแบกของหนัก เพราะต้องเดินเป็นระยะทางไกล และบางช่วงต้องปีนป่ายขึ้นเขาสูงชัน
- เสื้อกันหนาว เป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นฤดูไหน บนเขาสอยดาวลมค่อนข้างแรง กลางคืนอากาศหนาวเย็น ควรเตรียมอุปกรณ์กันหนาว เสื้อผ้ากันลม กันหนาว ผ้าห่มขึ้นไปด้วย ช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว บนเขาอากาศเย็นมาก บางครั้งมีก็ลมแรงด้วย
- บางจุดในป่าไม่สามารถกางเต็นท์ได้ อาจใช้ผ้าปูพื้น (กราวชีท) แล้วปูฟลายชีทกันฝนและน้ำค้าง จะนอนในถุงนอน หรือ ผูกเปลนอนก็ได้
- หากใครถนัด ใช้ไม้เท้าเดินป่า หรือไม้ไม้เท้าค้ำยัน ติดไปด้วยก็ได้
- หากเดินในช่วงหน้าฝน ต้นฝน หลังฝน ควรเตรียมพลาสติกคลุมเป้ และเสื้อกันฝน ไปด้วย
- เสียมเล็กๆ สำหรับขุดหลุมเวลาต้องการขับถ่าย
- ทิชชู่เปียก ควรเตรียมไปสำหรับเวลาขับถ่ายบนเขา (ไม่มีห้องน้ำ) และควรมีถุงเล็กๆ สำหรับเก็บขยะทิชชู่ลงมาทิ้งด้านล่างด้วย
- ไฟฉาย ไฟแช็ค ทิชชู่แห้ง มีดพับ
- ยาประจำตัว และยาที่จำเป็นเช่น เบทาดีน ยาหม่อง
- ของใช้ส่วนตัว
- น้ำดื่ม (บนเขามีแหล่งน้ำไม่มาก)

สิ่งของอื่นๆ ที่คณะเดินป่าควรเตรียมไป
- อุปกรณ์การทำอาหาร ของสด ของแห้ง สำหรับทำอาหารบริเวณแค้มป์ (ควรสอบถามจากผู้นำทางอีกครั้ง) หรือจะซื้อตรงตลาดทับไทรก็ได้
- น้ำสำหรับทำอาหาร (บนเขามีแหล่งน้ำน้อย)
- ถุงขยะ ถุงดำ หรือถุงพลาสติก สำหรับใส่ขยะเพื่อนำลงมาทิ้งด้านล่าง
- ยารักษาโรคที่จำเป็น เช่นยาแก้แพ้ (กรณีเป็นผื่นแพ้จากต้นไม้ หรือแมลงสัตว์กัดต่อย) ยาหม่อง อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น

การเดินทางไปโป่งน้ำร้อน (จุดเริ่มเดินขึ้นเขา)
ห่างจากอำเภอสอยดาว 28 กิโลเมตร
ห่างจากตัวเมืองจันทบุรี 40 กิโลเมตร
ห่างจากน้ำตกเขาสอยดาว 30 กิโลเมตร

 

รถยนต์
ใช้เส้นทางสายสุขุมวิท แล้วจึงแยกไปทางไปจังหวัดสระแก้ว เลยอำเภอมะขามไป

1ใช้เส้นทางถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข 3) จากระยอง ให้ตรงไปทางจังหวัดตราด จนถึงแยกปากแซง
 
2จากนั้นวิ่งไปตามเส้นทางอีกประมาณ 36 กิโลเมตร เลยอำเภอมะขามไป จนถึงอำเภอโป่งน้ำร้อน
*หากนัดขึ้นเขาตรงปั๊ม ปตท. จะอยู่ซ้ายมือก่อนถึงแยกทับไทร
 
*หากนัดเจอที่ว่าการอำเภอโป่งน้ำร้อน ก็จะอยู่ซ้ายมือถัดแยกทับไทรไปหน่อย
 

 

รถโดยสาร
- กรณีไม่ได้ใช้รถยนต์ส่วนตัว สามารถเหมารถมาสด้า* (รถสองแถว) จากตัวเมืองจันท์มาแถวที่ว่าการอำเภอโป่งน้ำร้อน หรือตรงแยกทับไทร ควรโทรติดต่อนัดหมายล่วงหน้า ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ราคาแล้วแต่ตกลงกัน (ไม่น่าเกิน 200 บาท/คน)

* มาสด้าซิตี้ทัวร์ / รถรับจ้างมาสด้า
ติดต่อ 085-277-0960
เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/MazdaChanthaburi1735/timeline

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว
เวลาทำการ
ทุกวัน 8.30 -16.30 น.
ที่อยู่ ตำบลทรายขาว อำเภอเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี 22180
ติดต่อ 039-486-333, 081-384-5164

หรือ

ที่ว่าการอำเภอโป่งน้ำร้อน
ที่อยู่ ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 หมู่ 1 ตำบลทับไทร อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี
ติดต่อ 039-387-035, 039-360-216

 

ข้อมูลจากแหล่งอื่น และ รีวิว Pantip :123456
Image
Gallery

แผนที่

แสดงร้านอาหารใกล้เคียง
สถานที่เที่ยวใกล้เคียง
ห่างออกไป ประมาณ: 4.4 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ผาหินกูบ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติบนเทือกเขาสอยดาวใต้ เป็นที่เที่ยว unseen ของจังหวัดจันทบุรี ที่มีเส้นทางท้าทายนักผจญภัย นักเดินป่า ที่ไม่กลัวความยากลำบาก เส้นทางการเดินป่าที่ครบทุกรสชาติ บุกป่า ผ่านธารน้ำ ปีนเขา เข้าถ้ำ เป็นเส้นทางที่ค่อนข้างโหด ต้องใจเท่านั้นจึงจะฝ่าฟันอุปสรรคได้ตลอดเส้นทาง เพื่อพิชิตความสวยงามแห่งขุนเขา ดูมอสสีทองในหน้าร้อน นอนนับดาว สัมผัสลมหนาว เฝ้าดูทะเลหมอก ชมแสงตะวันแรกเบิกฟ้า
ห่างออกไป ประมาณ: 7.4 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
น้ำตกอ่างเบง เป็นน้ำตกที่อาจจะไม่ค่อยมีใครพูดถึง และยังไม่เป็นรู้จักมากนัก เพราะยังไม่ได้ปรับปรุงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ เหมาะกับการแวะเที่ยวชมเชิงอนุรักษ์ และศึกษาธรรมชาติ น้ำตกอยู่ไม่ไกลจากหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านทุ่งเพล ซึ่งเป็นจุดขึ้นเขาผาหินกูบ
ร้านอาหารใกล้เคียง
ขอบคุณรูปภาพจาก:
คุณ นังนู๋ฟ้า (Pantip), คุณ kaikai (Trekkinghut)
Tourism Authority of Thailand    Amazing Thailand     Pattaya Concierge     ChonHub     Kanchanaburi dot Co
Copyright © 2016 - 2024 | Ceediz.Com Contact: info@ceediz.com, info.ceediz@gmail.com