ของฝาก จังหวัดจันทบุรี

มาเที่ยวแล้ว อย่าลืมเอาของดีเมืองจันท์ไปฝากคนที่บ้าน

ข้อมูลของดีเมืองจันทบุรี

จังหวัดจันทบุรี เป็นจังหวัดที่มีของดีอยู่มาก มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะหลายด้าน บางอย่างโดดเด่นจนเป็นที่จดจำ และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่ว ว่าแล้วก็มาดูกันกีกว่าว่าจันทบุรี มีอะไรดี ๆ บ้าง

ผลไม้

จันทบุรี ถือเป็นเมืองผลไม้แห่งภาคตะวันออก เรียกว่ามีผลไม้อร่อยๆ หลายชนิด ทุเรียน มังคุด เงาะ สละ ระกำ ลองกอง ลำไย กระท้อน ผลไม้เมืองจันท์จะออกในช่วงเดือนเมษายน จนถึงเดือนมิถุนายน แน่ๆ คือราวๆ เดือนพฤษภาคม มักจะเป็นช่วงที่ผลไม้ออกมากที่สุด

ทุเรียน เป็นผลไม้ที่ปลูกมากที่สุดในจังหวัดจันทบุรี มีการปลูกกันหลายพันธุ์ ที่นิยมคือ หมอนทอง ชะนี ก้านยาว พวงมณี นกกระจิบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ลูกผสม ที่เรียกว่า "จันทบุรี 1" มีแม่เป็นชะนี + พ่อหมอนทอง ผลค่อนข้างกลม พูไม่นูน รองไม่ลึก หนามเล็ก ถี่ สั้น มีกลิ่นน้อย สีสวยสม่ำเสมอ เนื้อละเอียด ไม่เละ รสชาติหวานมัน

ทุเรียนจะเริ่มออกตอนปลายเดือนมีนาคม และมีมากช่วงพฤษภาคม - กรกฎาคม ต้นฤดูจะเป็นพันธุ์กระดุม ตามด้วย ชะนี หมอนทอง และพวงมณี (หากแล้งมากทุเรียนจะออกก่อนกำหนด)

สละ เป็นผลไม้ที่นิยมปลูกในจังหวัดจันทบุรีเช่นกัน ที่เห็นทั่วไปจะมีพันธุ์สุมาลี (มีรสชาติหวาน ลูกออกเป็นทรงกลมๆ หน่อย) และพันธุ์เนินวง (รสชาติอมเปรี้ยว ลูกออกทรงยาวๆ) สละจะออกในช่วงเดือนพฤษภาคม - พฤศจิกายน

ลำไย เป็นผลไม้อีกชนิดที่ปลูกกันมากในจังหวัดจันทบุรี แต่อาจจะไม่ค่อยได้เห็นตามท้องตลาด เพราะส่วนใหญ่จะส่งออก ไปยังจีน และอินโดนีเซีย แต่เดิมมีการปลูกในพื้นที่ตอนบนของจังหวัด คืออำเภอโป่งน้ำร้อน และสอยดาว ต่อมาได้ขยายลงมาในเขตพื้นที่ขลุง และอำเภอมะขาม มีการปลูกทั้งนอกฤดู และในฤดู ปัจจุบันมีลำไยที่เป็น "ลำไยจันทบุรี" ที่มีผลใหญ่ เนื้อเยอะ ไม่แฉะ รสหวานกรอบ

- ลำไยที่ออกตามฤดูกาล จะออกในช่วงเดือน กรกฎาคม - สิงหาคม
- ลำไยนอกฤดู ถือเป็นการบังคับให้ลำไยออกผลช่วงนอกฤดู ซึ่งจะออกในช่วงเดือน มกราคม - กุมภาพันธ์

เงาะ เริ่มออกช่วงกลางเดือนเมษายน แต่จะมีมากในเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน

มังคุด ออกช่วงปลายเดือนมีนาคม - มิถุนายน

ลองกอง เริ่มออกช่วงเดือนเมษายน มีมากในเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม

กระท้อน ออกเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม

 

อัญมณี

จันทบุรีได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งอัญมณี และเคยเป็นแหล่งที่ขุดพบอัญมณีที่ดีที่สุดในระดับโลกอย่าง "ทับทิมสยาม" ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นราชาแห่งอัญมณี ถึงแม้ปัจจุบันการขุดพลอยในจันทบุรี จะลดน้อยลงไปจากเดิมมาก แต่อุตสาหรรมอัญมณีของจังหวัดจันทบุรี ยังคงมีชื่อเสียง มีตลาดพลอยที่เป็นแหล่งซื้อขายที่สำคัญ และเป็นย่านที่มีช่างฝีมือการเจียระไนอัญมณี ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก

ตลาดอัญมณีของจังหวัดจันทบุรี มีให้เห็นกันตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ คือตั้งแต่การทำเหมืองพลอย กระบวนการทำอุตสาหกรรมพลอย ตลาดการซื้อขายพลอย ไปจนถึงการขึ้นตัวเรือนเป็นเครื่องประดับ หากใครต้องการเรียนรู้เรื่องอัญมณี จังหวัดจันทบุรีเป็นเสมือนตำราเล่มใหญ่สำหรับการเรียนรู้ ที่จะได้สัมผัสในทุกด้าน

สำหรับคนที่ต้องการซื้อเครื่องประดับ ที่จังหวัดจันทบุรี มีร้านค้าเครื่องประดับมากมาย ที่ได้รับการยอมรับเรื่องฝีมือ การดีไซน์ออกแบบ และคุณภาพ หรือหากต้องการเรียนรู้เรื่องราว ของความเป็นมาของอัญมณี และเครื่องประดับ ก็มีศูนย์ส่งเสริมอัญมณี และเครื่องประดับที่อยู่ในตัวเมือง

ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับ
เวลาเปิด 9.00 - 17.00 น.
ไม่เสียค่าเข้าชม

ที่อยู่ 1/29 ถนนมหาราช ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี 22000
โทร 039-303-118-9

เว็บไซต์ http://bgl.chanthaburi.buu.ac.th/
เฟสบุ๊ค CGJTA

ข้อมูลจากแหล่งอื่น และ รีวิว Pantip :1234
ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับ
ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดง และให้ความรู้เกี่ยวกับอัญมณีแบบครบวงจร ถือได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์อัญมณีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่ในตัวเมือง หาง่าย เดินทางสะดวก เปิดให้เข้าชมทุกวัน และสามารถนำอัญมณีที่ต้องการตรวจสอบคุณสมบัติได้ที่ห้องแล็บภายในศูนย์ฯ​ ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับ ตั้งอยู่บนถนนมหาราช หากใช้เส้นทางจากถนนท่าแฉลบตรงแถวสวนสาธารณะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ให้ตรงไปทางบิ๊กซี ก่อนถึงจะมีถนนเลี้ยวไปทางศูนย์ส่งเสริมฯ มีป้ายบอกชัดเจน เข้าถนนซอยไปหน่อย ศูนย์ส่งเสริมฯ จะอยู่ทางซ้ายมือ สังเกตง่ายๆ จะมีอาคารที่มีหลังคาสีเหลืองขนาดใหญ่ มองเห็นได้ชัด

ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับ มีเนื้อที่ทั้งหมด 8 ไร่ เป็นศูนย์ที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยส่งเสริมธุรกิจอัญมณี และเครื่องประดับของประเทศไทย ภายในอาคาร จัดเป็นห้องนิทรรศการ ให้เดินชมได้ เป็นห้องจัดแสดงความรู้เกี่ยวกับ ประวัติการเกิดอัญมณี มีตัวอย่างแร่ดิบ ที่ได้มาจากแหล่งต่างๆ ตั้งไว้ให้เห็นของจริง มีเรื่องราวของอัญมณีประจำราศี กระบวนการผลิตอัญมณี แหล่งค้นพบอัญมณีในโลก ความรู้การทำเหมืองพลอยในจันทบุรี การเจียระไนพลอย จนถึงการนำอัญมณีมาทำเครื่องประดับ และยังมีการจำลองตัวอย่างการประดับอัญมณีลงบนเครื่องประดับต่างๆ ในสังคมชั้นสูง เช่นตัวอย่างมงกุฏของกษัตริย์ในต่างประเทศ

ถัดจากห้องจัดแสดงความรู้ด้านอัญมณี จะเป็นส่วนของร้านขายเครื่องประดับ จัดเป็นบูทที่มีให้เลือกหลายร้าน มีจำหน่ายทั้งแบบเป็นพลอยเม็ดๆ ที่ยังไม่ได้ขึ้นตัวเรือน และพลอยสำเร็จเป็นเครื่องประดับแล้ว ในแต่ละร้านก็มีหลากหลายราคาตั้งแต่หลักร้อย ไปจนถึงหลักล้าน

นอกจากนี้ ภายในอาคารศูนย์ส่งเสริมฯ​ ยังมีหน่วยงานตรวจสอบอัญมณี เพื่อขอใบรับรองที่สามารถติดต่อขอใช้บริการ เพื่อตรวจดูว่าพลอยที่ได้มานั้น เป็นของแท้หรือไม่

ข้อแนะนำ

- หากซื้ออัญมณีจากร้านจิวเวอรี่แล้ว ต้องการใบรับรองจากผู้เชี่ยวชาญ สามารถขอให้ทางร้านนำส่งเพื่อตรวจสอบขอใบรับรองได้ ส่วนใหญ่เมื่อซื้ออัญมณีราคาสูง (หลักหมื่น) บางร้านจะมีใบรับรองให้อยู่แล้ว หากเป็นอัญมณีที่ราคาทั่วไป (หลักพัก) ก็สามารถขอใบรับรองจากศูนย์วิเคราะห์วิจัยและพัฒนาอัญมณี (ทำการวันจันทร์ - ศุกร์ 8.30 - 16.30 น.) ราคาประมาณ 300 - 600 บาท

 

เสื่อจันทบูร

ปัจจุบันเสื่อจันทบูรยังคงมีการผลิตอยู่บ้าง แต่จะมีเฉพาะบางกลุ่มชาวบ้าน และบางหมู่บ้าน โดยใช้เวลาที่หมดจากการทำนา และการเก็บผลไม้ในหน้าผลไม้ มาทอเสื่อเป็นอาชีพเสริม หากใครต้องการซื้อเสื่อ หรือผลิตภัณฑ์จากเสื่อจันทบูร สามารถหาซื้อได้จากร้านขายของฝากต่างๆ หรือจะแวะไปถึงแหล่งผลิตเลยก็ได้ จะได้เห็นถึงขั้นตอนการทอเสื่อด้วย เช่น

กลุ่มทำเสื่อกกสุริยาบางสระเก้า
จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2515 นำโดยคุณสุริยา แก่นจันทร์ ผู้รับสืบทอดการทอเสื่อมาจากบรรพบุรุษ จนกระทั่งได้มีการพัฒนา และแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย จนกลายเป็นสินค้าโอทอป

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ที่อยู่ 6/5 บ้านล่าง หมู่ 5 ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
โทร 039-450-585, 081-782-4075

ศูนย์ศิลป์เสื่อบางสระเก้า
ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 มีการส่งเสริมการปลูกกก ปลูกปอ รับซื้อ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน เปิดบริการทุกวันเวลา 8.00 - 17.00 น. ศูนย์ฯ​ สามารถไปโดยเส้นทางถนนสุขุมวิท แล้วเลี้ยวตามป้ายบอกทางบางสระเก้า

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ที่อยู่ ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
โทร 039-450-923, 081-450-7642

ศูนย์หัตถกรรมทอเสื่อกกบ้านเสม็ดงาม  
บ้านเสม็ดงามเป็นแหล่งที่มีต้นกกสำหรับทำเสื่อจันทบูรอยู่มาก ที่ศูนย์มีการสาธิตการทอเสื่อกก และกระบวนการตาก การย้อมสี กกเพื่อมาทำเสื่อ ศูนย์ฯ ตั้งอยู่บนเส้นทางไปยังอู่ต่อเรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ที่อยู่ 6/11 บ้านเสม็ดงาม หมู่ 11 ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี
โทร 039-454-321

* ต้นกก เป็นไม้ล้มลุกชนิดใบเลี้ยงเดี่ยว พบทั่วไปตามที่ชื้นแฉะ ที่น้ำท่วมถึง มักขึ้นในที่ต่ำตามหนอง บึง ต้นกกที่จันทบุรี มีลำต้นกลม ส่วนบนๆ จะเป็นสามเหลี่ยม ลำต้นมีสีเขียวเข้ม สูง 1-2 เมตร ส่วนใหญ่เป็นกกน้ำกร่อย หรือที่เรียกว่า กกสองน้ำ ทำให้เส้นใยกก มีความเหนียว นุ่ม เป็นมัน นำไปจักเป็นเส้นเล็กๆ ได้ดี
เสื่อจันทบูร เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวจันทบุรี ถือเป็นแหล่งการทำเสื่อที่มีชื่อเสียง จนเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ แม้ว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมการทำเสื่อที่จันทบุรี จะลดลงไปจากเดิมมาก แต่ก็ยังคงมีการผลิตเพื่อเป็นสินค้าของฝาก และมีการพัฒนาดัดแปลงจากเสื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ เช่น เสื่อบุฟองน้ำ กระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ กล่องดินสอ กล่องทิชชู่ หมอน รองเท้าแตะ ที่รองจาน รองแก้ว ตลับกระปุกต่างๆ

เสื่อกก (เสื่อ-กก) หรือที่คนเรียกกันจนติดปากว่า "เสื่อจันทบูร" มีความเป็นมายาวนาน เป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ ที่นำวัสดุที่มีอยู่ในธรรมชาติผนวกกับฝีมือหัตถกรรมของชาวบ้าน จนได้เป็นงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดจันทบุรีเรื่อยมา

การทอเสื่อในยุคแรกๆ เป็นงานฝีมือของชาวญวนที่อพยพมาอยู่ในเมืองไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 ครั้งเสด็จประพาสจันทบุรี เมื่อพ.ศ.2419 กล่าวว่า "…เสื่อกกแดงนั้น มีแต่ญวนทำแห่งเดียว วิธีทำเอาต้นกกมาจักให้เล็ก ผึ่งแดดให้แห้ง แล้วจึงย้อมสีต่างๆ ตามที่จะให้เป็นลาย สีแดงย้อมด้วยน้ำฝาง สีดำย้อมด้วยหมึก สีเหลืองย้อมด้วยแกแล บางทีย้อมด้วยขมิ้น สีน้ำเงินย้อมด้วยคราม แต่ใช้น้อย แล้วเอาเข้าสะดึงทอเป็นลายต่างๆ เป็นเสื่อผืนเสื่อลวดบ้าง ยาวตามแต่จะต้องการ กว้างเฉพาะช่วงต้นกก..." ว่ากันว่าการทอเสื่อเริ่มมาจากแม่ชีเชื้อสายญวน ที่นับถือศาสนาคริสต์ และอาศัยอยู่บริเวณหลังโบสถ์คาทอลิก ไปขอกกจากชาวบ้านเพื่อมาทอเสื่อใช้ (จนเคยเรียกเสื่อที่ได้ว่า "เสื่อชี") ต่อมาและได้แนะนำให้ชาวบ้านปลูกกก เพื่อแลกเปลี่ยนกับเสื่อ จนมีการปลูกต้นกกกันอย่างจริงจัง มีการเรียนรู้การทอเสื่อ ความนิยมในการใช้เสื่อเพิ่มขึ้น มีการซื้อขายกันมากขึ้นจนเป็นที่รู้จัก จนกลายเป็นสินค้าพื้นเมืองของจันทบุรี พอเข้าสู่ที่กระแสการทำพลอยเฟื่องฟู ชาวญวนได้หันไปค้าพลอยกัน การทอเสื่อจึงได้ถูกสืบทอดไปยังส่วนอื่นๆ

เสื่อจันทบูร เป็นเสื่อที่มีคุณภาพดี เพราะผลิตจากต้นกก* ที่ได้จากน้ำกร่อย มีความเหนียว ทนทาน สามารถนำไปผ่า (เรียกอีกอย่างว่า "จัก") เป็นเส้นเล็กๆ ได้ดี กรรมวิธีการทอเสื่อนั้นมีวิธีการเตรียมไม่ยุ่งยากมากนัก เมื่อตัดต้นกกมาแล้วต้องนำมาผ่า ขูดเอาใส้ในออก ให้เหลือแต่เปลือก จากนั้นต้องนำไปผึ่งแดดให้แห้ง นำมาจักให้ได้ขนาด แล้วนำไปต้มย้อมสี นำมาตากให้แห้งอีกครั้ง จากนั้นจึงนำมาทอ

ในช่วงปี พ.ศ. 2493 ครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงประทับอยู่ ณ วังสวนบ้านแก้ว พระองค์ทรงมีส่วนช่วยในการพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการทำเสื่อ เช่นการฟอกสีก่อนนำไปย้อม เพื่อให้ได้สีที่สดใสขึ้น นอกจากนี้ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงงานทอเสื่อที่วังสวนบ้านแก้ว มีผลิตภัณฑ์เสื่อ และนำเสื่อที่ทอแล้วมาประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระเป๋าถือสตรี ที่รองจาน ที่รองแก้ว กล่องใส่กระดาษเช็ดมือ เป็นต้น (แหล่งข้อมูลจาก http://www.arts.rbru.ac.th/)

ข้อมูลจากแหล่งอื่น และ รีวิว :1234
 

* พริกไทยเป็นพืชพื้นถิ่นจากประเทศอินเดีย เป็นไม้เถาในวงศ์เดียวกับดีปลี และพลู เป็นพืชที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เพราะมีศัตรูพืชมาก และใบเป็นราได้ง่าย พริกไทยเป็นเครื่องเทศ ที่กินได้ทั้งดิบและสุก หากเก็บผลอ่อนสดกิน นำไปประกอบอาหารเป็นพริกไทยอ่อน หากทำแห้งเป็นพริกไทยเม็ด ที่มีพริกไทยขาวและพริกไทยดำ ทั้งแบบเม็ดและแบบป่น

พริกไทย

พริกไทย เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดจันทบุรี ทำรายได้จากการส่งออกปีละ 30-60 ล้านบาท จันทบุรีเป็นจังหวัดที่ปลูกพริกไทยมากที่สุดในประเทศไทย รองลงมาคือชุมพร และระนอง พริกไทยของจังหวัดจันทบุรีถือว่าเป็นพริกไทยคุณภาพดี มีกลิ่นหอม ฉุน เป็นที่ต้องการของตลาด

ในระยะแรกๆ ผู้ทำสวนพริกไทยส่วนใหญ่เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว มีแหล่งปลูกที่สำคัญอยู่บริเวณอำเภอท่่าใหม่ เช่นตำบลสองพี่น้อง ตำบลทุ่งเบญจา ต่อมามีการขยายไปปลูกในพื้นที่อื่น เช่น อำเภอนายายอาม พันธุ์พริกไทยที่ปลูกเดิมมีหลายพันธุ์ เช่นพันธุ์จันทบุรี (ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมปลูกแล้ว) พันธุ์มาเลเซีย หรือพันธุ์ซาราวัค (สองพันธุ์นี้มีลักษณะคล้ายกันจนแยกไม่ค่อยออก และเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกมาก เหมาะกับการทำพริกไทยขาว และพริกไทยดำ) ภายหลังมีผู้นำพันธุ์ซีลอน ที่มาจากหมู่เกาะซีลอนมาปลูก ซึ่งเหมาะกับการทำพริกไทยอ่อน และพริกไทยดำ
พริกไทยดำกับพริกไทยขาวนั้นมาจากต้นเดียวกัน แต่มีกรรมวิธีการเก็บมาทำเป็นพริกไทยแห้งต่างกัน คือ

พริกไทยดำ ได้จากการเก็บพริกไทยแก่เต็มที่ แต่ยังไม่สุก สียังออกเขียว นำมาตากแห้ง ให้ก้านและผลแห้งเหี่ยว เปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ

พริกไทยขาว จะต้องรอเก็บตอนพริกไทยแก่จนสุก มีสีออกแดง เหลืองส้ม  จากนั้นนำไปแช่น้ำ หรือแช่ในน้ำไหลประมาณ 7-14 วัน แล้วจึงนำมานวดเพื่อลอกเปลือกนอกออก ล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วนำไปตากแดด ประมาณ 4-5 วัน จะได้เป็นพริกไทยขาว หรือบางทีก็เรียกว่า พริกไทยล่อน

พริกไทยขาว เป็นที่นิยม มีความต้องการในตลาด และมีราคาแพงกว่าพริกไทยดำ เพราะมีขั้นตอนการผลิตที่ยุ่งยากกว่า แต่ในด้านสรรพคุณ พริกไทยดำจะมีน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยในเรื่องการขับลม ได้มากกว่า

 

ก๋วยเตี๋ยวเส้นจันท์

ก๋วยเตี๋ยวเส้นจันท์ คือก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กที่ผลิตที่จังหวัดจันทบุรี เป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มีลักษณะพิเศษกว่าเส้นเล็กทั่วไป คือมีเส้นเหนียวนุ่ม ไม่เปื่อยง่าย สีขาวหม่นตามธรรมชาติ เป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ได้รับความนิยม และหากินได้ง่ายในเมนูอาหารพื้นเมือง เช่นเส้นจันท์ผัดปู ก๋วยเตี๋ยวเลียง แม้แต่อาหารทั่วไปอย่างผัดไทย คนก็นิยมใช้เส้นจันท์ เพราะไม่เละง่าย คนมาเที่ยวเมืองจันท์จึงนิยมหาซื้อเส้นจันท์ไปเป็นของฝาก หรือนำไปประกอบอาหารเองที่บ้าน ซึ่งหาซื้อได้ง่ายตามร้านของฝากทั่วไปในจังหวัดจันทบุรี

การทำเส้นก๋วยเตี๋ยวในจังหวัดจันทบุรี ในยุคแรกๆ เป็นชาวจีนที่ล่องเรือมาจากแผ่นดินใหญ่ และมาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองจันท์ มีความรู้เกี่ยวกับการทำเส้นก๋วยเตี๋ยว จนกลายเป็นอาชีพ และพัฒนาต่อเนื่องเป็นอุตสาหกรรมการทำเส้นก๋วยเตี่ยว ก๋วยเตี๋ยวเส้นจันท์ที่ผลิตได้ในแต่ละเจ้าจะมีสูตรเฉพาะตัว แล้วแต่เคล็ดลับของแต่ละยี่ห้อ ที่เหมือนกันคือการเลือกใช้แป้งข้าวเจ้าที่เป็นข้าวเนื้อแข็ง เช่นใช้ข้าวสารจากเมืองพิจิตร และแปดริ้ว เพราะปลูกบนที่ดอนดินปนทราย ช่วยให้ได้เส้นเหนียวกว่าการใช้ข้าวจากในที่ลุ่ม

เส้นก๋วยเตี๋ยวทำมาจากปลายข้าว หรือข้าวหักที่ได้มาจากโรงสีข้าว ที่มีความชื้นน้อย กระบวนการผลิตก๋วยเตี๋ยว เริ่มจากนำข้าวมาเลือก ล้าง (2 น้ำ) แล้วก็จะแช่ข้าวไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง จากนั้นก็ถูกส่งไปยังถังโม่พร้อมกับน้ำ แล้วถูกส่งเข้าเครื่องนึ่ง จนได้แป้งเป็นแผ่นใหญ่ที่สุกแล้ว หากทำเป็นเส้นแบบแห้งก็ต้องผ่านการอบอีกครั้ง

เส้นจันท์ในท้องตลาดที่ขายอยู่ในปัจจุบันมีทั้งที่ผลิตในจังหวัดจันทบุรี และจากที่อื่นๆ หากต้องการเส้นจันท์ที่ผลิตที่จันทบุรี ก็ต้องสังเกตยี่ห้อ ซึ่งมีอยู่หลายยี่ห้อ เช่น ตราพญานาคเจ็ดเศียร ตราพลอยแดง (ผลิตในอำเภอขลุง) ตรามังกรคู่ (ผลิตในอำเภอขลุง) ตรามงกุฎ (ผลิตในอำเภอขลุง) ตราเรือใบ (ผลิตในอำเภอท่าใหม่) ตรา 111 (ผลิตในตำบลบางกะจะ) เป็นต้น (แหล่งข้อมูลจาก http://province.m-culture.go.th/chanthaburi/product1.html)

ข้อแนะนำ สำหรับผู้ที่ซื้อเส้นจันท์แบบแห้ง เพื่อนำไปประกอบอาหาร ก่อนนำไปปรุงจะต้องนำเส้นแห้ง ไปแช่น้ำก่อนสัก 10 นาที จากนั้นสงขึ้นพักไว้หมาดๆ แล้วจึงนำมาลวกเพื่อทำเป็นก๋วยเตี๋ยวต่อไป

ข้อมูลจากแหล่งอื่น และ รีวิว :1
 

* เหลืองจันทบูร เป็นกล้วยไม้สกุลหวาย พบทั่วไปแถบจังหวัดจันทบุรี และตราด เป็นพืชที่อาศัยเกาะอยู่ตามต้นไม้ มีระบบรากอากาศ ออกดอกเป็นช่อทั้งต้น ออกดอกปีละครั้ง (ระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม) ดอกทนนาน เมื่อดอกบาน รอบแรกจะมีสีเหลืองอ่อน แล้วค่อยๆ มีสีเข้มขึ้นจนเป็นสีจำปา กลีบดอกสีเหลืองสด เป็นมัน อาจมีแต้มสีแดง ภายในคอ หากไม่มีแต้มเรียกว่าเหลืองปลอด ชนิดมีแต้มเรียกว่าเหลืองนกขมิ้น เหลืองจุด เหลืองผสม เป็นต้น

กล้วยไม้เหลืองจันทบูร

"เหลืองจันทบูร" ดอกไม้ประจำจังหวัดจันทบุรี เป็นกล้วยไม้ประจำถิ่น ที่ชาวจันท์ยกให้เป็นราชินีแห่งกล้วยไม้ของจังหวัดจันทบุรี เป็นดอกไม้ที่ให้ความสวยงามเป็นเงามันเหมือนกล้วยไม้ประดิษฐ์ มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ที่ภาคตะวันออก และที่จังหวัดจันทบุรี พบได้ในป่าแถบเขาคิชฌกูฏ และเขาสอยดาว ปัจจุบันจัดเป็นพืชที่ค่อนข้างมีน้อย จึงได้รับการอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 และจัดเป็นของป่าหวงห้ามตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 โดยห้ามค้า และอนุญาติให้ครอบครองได้ไม่เกิน 20 ต้น การส่งออกต้องใช้วิธีการขยายพันธุ์เทียม คือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือเพาะเมล็ดสังเคราะห์ ส่วนสถานที่เพาะเลี้ยงเพื่อการค้าก็ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร

เพื่อเป็นการอนุรักษ์กล้วยไม้เหลืองจันทบูร ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี จึงได้ริเริ่มโครงการศึกษาวิจัย ขยายพันธุ์ และส่งเสริมการปลูกเหลืองจันทบูรเพื่อให้เหลืองจันทบูรมีมากขึ้น ได้มีการจัดงาน "รักษ์เหลืองจันท์ วันดอกไม้บาน" ทุกปี ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ โดยเริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2545 ภายในงานมีกิจกรรมการประกวดกล้วยไม้เหลืองจันทบูร และสกุลอื่นๆ นอกจากนี้ในวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี ยังมีงาน "คืนเหลืองจันทบูรสู่ป่า" เป็นการนำกล้วยไม้ที่เพาะกล้าได้ ไปติดคืนไว้กับต้นไม้ใหญ่ในป่าแถบเขาคิชฌกูฏ เพื่ิอเป็นการอนุรักษ์ให้เหลืองจันทบูรได้เติบโตสู่ถิ่นเดิมต่อไป

ข้อมูลจากแหล่งอื่น และ รีวิว Pantip :12
 

น้ำสำรอง

น้ำสำรอง สินค้าประจำจังหวัดจันทบุรี ที่หลายคนมาเที่ยวแล้วต้องถามหา นอกจากดับกระหายแล้ว ยังมีประโยชน์ทางสรรพคุณยาหลายอย่าง

น้ำสำรอง มาจากต้นสำรอง หรือพุงทะลาย เป็นต้นไม้ที่มีอยู่มากในจังหวัดจันทบุรี และเป็นต้นไม้ประจำจังหวัด และยังเป็นชื่อของตำบลพุงทะลาย ที่ตั้งเมืองเก่าของจันทบุรี ที่เคยมีต้นพุงทะลายอยู่มาก

ต้นพุงทะลาย ซึ่งส่วนใหญ่คนจะนิยมเรียกต้นสำรองมากกว่า (อีสานเรียก บักจอง) เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ (ต้นสูงที่สุดมีความสูงประมาณ 20-30 เมตร) มีลำต้นสูงตรง ใบอ่อนรูปร่างคล้ายใบโพธิ์ ขอบใบเป็นแฉกๆ พอโตขึ้น ใบจะเปลี่ยนรูปเป็นเรียวยาวขึ้น  ต้นสำรองที่พบในจังหวัดจันทบุรี พบมาที่เชิงเขาคิชฌกูฏ เพราะเป็นพืชที่ชอบขึ้นตามป่าดงดิบ ที่มีความชื้นสูง มักขึ้นเองตามธรรมชาติ ผลของต้นสำรอง มีรูปร่างรี แก่แล้วผิวจะเหี่ยวย่น เป็นสีน้ำตาลแก่ เมื่อร่วงจากต้นจะมีปีกบางๆ ยื่นออกมา (ส่วนปีกเรียกว่า สำเภา) คล้ายๆ กับลูกยางนาที่มีปีกแบบกังหัน ลูกสำรองจะร่วงปีละครั้ง ประมาณเดือนเมษายน

สมัยก่อนสำรองเป็นอาหารว่างสำหรับชาววัง เมื่อชาวจีนมาพบ และทดลองกิน จึงติดใจในรสชาติ และมีสรรพคุณทางสมุนไพร และมีงานวิจัยออกมาว่ากากเส้นใยของลูกสำรองสามารถช่วยดูดซับอนุมูลอิสระในร่างกาย จึงมีส่วนช่วยต้านมะเร็งได้ สรรพคุณทางยา ส่วนผล (ส่วนที่เป็นเนื้อหุ้มเมล็ด) ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ ท้องเดิน ลดอาการปวด บำรุงไต อาจช่วยในเรื่องการจับไขมัน ดูดซับไขมัน ทิ้งไปกับการขับถ่าย ช่วยลดความอ้วน

กระบวนการผลิตน้ำสำรองไม่ยุ่งยาก หากมีลูกสำรองดิบก็ทำกินเองได้
- นำลูกสำรองไปล้างน้ำ เอาเศษผลต่างๆ ที่ติดเปลือกอยู่ออก
- จากนั้นนำลูกสำรองไปแช่น้ำ (ประมาณ 4-5 ชั่วโมง) พยายามกดให้ลูกสำรองจมน้ำ ลูกสำรองจะพองตัวออก ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมขึ้นมาก เนื้อส่วนนอกจะกลายเป็นวุ้นเส้นๆ (เหมือนรังนก) ลอยอยู่ในน้ำ (จะมีทั้งเมล็ดและเปลือกปนอยู่ด้วย)
- เมื่อเนื้อสำรองหลุดลุ่ยออกมาแล้ว ให้นำออกมาเลือกเอาเฉพาะเนื้อสำรองที่คล้ายวุ้น เขี่ยเอาเศษเปลือก และเมล็ดออกไป
- นำวุ้นไปล้างอีกครั้ง เติมน้ำ นำไปต้ม คอยคนไม่ให้ติดก้นหม้อ ใส่น้ำตาลทราย หรือน้ำตาลกรวด หรือน้ำหญ้าหวาน
- น้ำสำรองที่ทำแล้ว สามารถแช่ตู้เย็นเก็บไว้ทานได้
ข้อแนะนำ
- หากทำกินเองที่บ้าน ควรทำทีละน้อย เพราะลูกสำรองแช่น้ำแล้วจะพองออกมาเยอะมาก
- การซื้อน้ำสำรองกระป๋อง ควรดูวันผลิต วันหมดอายุ ก่อนซื้อ
ข้อมูลจากแหล่งอื่น และ รีวิว :12
 

แหวนกลปูปลา

แหวนกลปูปลา เป็นอีกหนึ่งในของดีเมืองจันท์ ถือเป็นเครื่องประดับที่มีความแปลก เก๋ไก๋ และพิเศษกว่าแหวนทั่วๆ ไป ตรงที่แหวนแต่ละวงจะประกอบด้วยแหวนเล็กๆ อีก 4 วง เมื่อแหวนเล็กๆ ทั้ง 4 ประกอบกันแล้ว หน้าแหวนจะกลายเป็นรูปสัตว์ต่างๆ แรกๆ ในการผลิต เป็นรูปปลา ปูทะเล กุ้ง พญานาค การเรียงตัวของแหวนทั้งสี่ที่ประกอบเป็นหน้าแหวน ไม่ได้วางเรียงกันธรรมดา แต่มีการเกี่ยวคล้องกันอยู่ หากไม่รู้จักวิธีการประกอบก็ไม่สามารถประกอบกลับเป็นหน้าแหวนเหมือนเดิมได้ หรือหากไม่รู้วิธีแยก ก็ไม่สามารถแยกออกจากกันได้เช่นกัน

ว่ากันว่าการทำแหวนกลนี้ได้มาจากช่างที่ได้เห็นแหวนกลของฝรั่ง ที่ทำเป็นห่วงคล้องกันไปมา แม้จะแยกออกจากกันก็ยังติดกันเป็นพวง และประกอบเก็บเข้าไปใหม่ได้ ต่อมาจึงได้คิดประดิษฐ์เป็นแหวนปู แหวนปลา ในลักษณะเดียวกัน

ปัจจุบันที่จังหวัดจันทบุรียังคงมีแหวนกลจำหน่าย มีทั้งทำด้วยเส้นเงิน และทอง ส่วนใหญ่จะทำด้วยทอง 93-95 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ขึ้นกับว่ามีลวดลายละเอียดขนาดไหน มีการคิดรูปแบบลวดลายเป็นแบบต่างๆ ให้ตัวปู ปลา เป็นแบบกระดุกกระดิกได้ สลักเป็นชื่อ หรือการติดเพชร ติดพลอยที่หัวแหวนด้วย  

บ้านแหวนกล

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
โทร 081-791-3278 / facebook
ร้านมณฑา (ป้าแต๋ว) (12.498975, 102.147897)

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
โทร 039-397-017, 081-356-6081 / Website
ข้อมูลจากแหล่งอื่น และ รีวิว :12
Tourism Authority of Thailand    Amazing Thailand     Pattaya Concierge     ChonHub     Kanchanaburi dot Co
Copyright © 2016 - 2024 | Ceediz.Com Contact: info@ceediz.com, info.ceediz@gmail.com